| |
ถ้าได้บริษัทดีมีจิตสำนึก ก็จะทำงานเสร็จเรียบร้อยส่งมอบทันเวลา แต่ถ้าได้บริษัทชั้นเลว ดีแต่เสนอตัวเลขสูงๆให้การเมือง พอได้งานก็มักจะพบว่างานไม่เสร็จ หรือตัดเนื้องาน หรือส่งมอบอุปกรณ์ไม่ตรงตามสเปก อาศัยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ตรวจรับโครงการ บางทีซื้อมาใช้ไม่ได้ หรือไม่ได้ใช้ ท้ายสุดทำให้องค์กรเสียหายมานักต่อนัก
สำหรับ โครงการ 3G ของทีโอที ที่กำลังจะเปิดบริการในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ด้วยคอนเซ็ปต์การตลาดแบบใหม่อย่างการให้เอกชนมาเช่าโครงข่ายแล้วทำตลาดหรือ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) กำลังเป็นที่จับตามองของตลาดมากว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ในมุมมองของ MVNO ทั้ง 5 รายไม่ว่าจะเป็นสามารถ ไอ-โมบาย, ล็อกซเล่ย์, 365, เอ็ม คอนซัลต์ และไออีซี ต่างเห็นว่าแค่จำนวน 2-3 หมื่นเลขหมายในช่วงแรกไม่น่าจะพอทำตลาด เพราะ MVNO ทั้ง 5 รายเปรียบเหมือนแม่ทัพการตลาด 5 คนช่วยกันขายช่วยกันทำตลาด แต่ละรายมีจุดแข็งที่ต่างกัน น่าจะเป็นประโยชน์กับทีโอทีอย่างมาก ซึ่งทีโอทีควรมีแผนขยายเน็ตเวิร์กให้ทั่วประเทศและขยายความสามารถรองรับของ ระบบ(Capacity) ในลักษณะที่เติบโตไปด้วยกัน
แต่กลายเป็นว่าทีโอที ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยกำลังถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิชย์ รมว.คลังประสานเสียงเตะสกัดแผนขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศของทีโอที
โดยนายอภิสิทธิ์ต้องการให้ทีโอทีชะลอการลงทุนโครงการ 3G ทั่วประเทศของทีโอทีไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนในการประมูลใบอนุญาต 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
ในขณะที่นายกรณ์ต้องการให้มีการแปรสัญญาสัมปทานของบริษัทเอกชนก่อน ที่กทช.จะประมูลใบอนุญาต 3G เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และเห็นว่าหากไม่มีการแปรสัญญาสัมปทานแล้วกทช.ประมูลใบอนุญาต 3G จะทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท
นัยครั้งนี้เหมือนประสานเสียงถามว่าไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกัน ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วไม่มีคำตอบ
เพราะประการแรกกทช.แจ้งให้ทราบแล้วว่าการขยายโครงข่าย 3G ทีโอทีไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลใบอนุญาต 3G ของกทช. ประการที่สองการแปรสัญญาจำเป็นต้องให้คู่สัญญาด้านเอกชนเห็นชอบด้วย รัฐไม่สามารถทุบโต๊ะตามใจชอบได้ เพราะไม่เช่นนั้นการแปรสัญญาน่าจะเสร็จเรียบร้อยมานานแล้ว
แม้กระทั่งเอกชนคู่สัญญาอย่างเอไอสกับดีแทค ยังเห็นว่าการแปรสัญญากับการประมูลใบอนุญาต 3G เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ควรนำมาผูกกัน โดยเอไอเอสเสนอแนวทางแปรสัญญาที่สนใจคือการเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุน เสนอให้ทีโอทีเข้ามาถือหุ้นได้สูงสุดถึง 30% เพียงแต่เอไอเอสต้องประมูลได้ใบอนุญาต 3G จากกทช.ก่อน รวมทั้งทรูมูฟก็ยังเห็นว่าการแปรสัญญาสามารถทำคู่ไปกับการประมูล 3G ได้
“การ แปรสัญญาสัมปทานกับการประมูลใบอนุญาต 3G เป็นคนละเรื่องกัน การที่รัฐบาลพยายามจะให้มีการแปรสัญญาให้แล้วเสร็จก่อนมีการประมูลใบอนุญาต 3G นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากการแปรสัญญาไม่สามารถทำได้เพราะที่ ผ่านมามีความพยายามทำเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปีแล้วหากรัฐต้องการผลักดันจริงๆควรดำเนินการเรื่องการแปรสัญญากับการออกใบ อนุญาตใหม่ควบคู่กันจะดีกว่า” นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอสกล่าว
“การแก้สัญญาสัมปทานมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะ เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมาเป็นระยะเวลานานมากแล้วเป็น 10 ปี ดังนั้นการแปรสัญญาภายในระยะเวลาอันสั้น หรือภายในระยะเวลาที่สัญญาสัมปทานยังเหลืออยู่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นรัฐบาลควรแยกเรื่องสัญญาสัมปทานออกเป็น 2 เรื่อง จากการประมูลใบอนุญาต 3G เพราะทั้ง 2 เรื่องไม่ใช่เรื่องเดียวกัน” ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทคกล่าว
“ต้อง การให้ภาครัฐเร่งการแปรสัญญาควบคู่ไปกับการประมูลใบอนุญาต3G ไม่ใช่รอให้มีการแปรสัญญาให้เสร็จก่อนซึ่งการแปรสัญญาภายใต้กฎหมายประกอบการ กิจการโทรคมนาคม คู่สัญญาสัมปทานสามารถเจรจาและตกลงยินยอมที่จะยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ โดยการแปรสัญญาอาจจะใช้รูปแบบเปิดให้เอกชนเช่าใช้โครงข่ายเดิมด้วยต้นทุนที่ เหมาะสม หรือเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุน หรือการแปรทรัพย์สินเป็นเงิน แต่ควรจะเปิดโอกาสให้เอกชนผ่อนจ่ายแทนการเรียกเก็บเพียงครั้งเดียว ซึ่งรูปแบบจะเป็นการทำสัญญาฉบับใหม่ หรืออาจจะเป็นการเช่าโครงข่ายแทนและผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่าย ให้แก่ผู้ให้สัมปทานก็ได้” ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าว
ความต้องการของนายกฯและรมว.คลังในเรื่องนี้ คือ การยื้อเรื่องซื้อเวลาไปมา พายเรือวนในอ่าง
ว่ากันว่าการที่ทีโอทีเป็นเหยื่อการเมืองครั้งนี้ เป็นเพราะมีกระบวนการตกลงเกี้ยเซี๊ยะไปเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นคนละขั้วกับนายอภิสิทธิ์กับนายกรณ์ รวมทั้งยังมีบางส่วนตกไปยังนายพ.ผู้ยิ่งใหญ่ตัวจริงเพื่อแผ่นดิน ทำให้นายกฯไม่พอใจอย่างมาก
ประกอบกับตัวแทนทุนการเมืองที่ดูแลสภาพัฒน์ฯ มีแนวโน้มที่จะเตะสกัดแผนธุรกิจของทีโอทีให้ล่าช้าออกไป หลังรมว.คลังมาตั้งข้อสังเกตว่าทีโอทีจะลงทุนโครงข่าย 2 หมื่นล้านแต่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจแบบขายส่งหรือขายปลีก เพราะทุนการเมืองเชื่อว่ายิ่งทีโอทีวางโครงข่าย 3G ทั่วประเทศล่าช้าจะเป็นประโยชน์กับบริษัทตัวเองเนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาต 3G เหตุผลทั้ง 2 ส่วนถูกโยงมารวมกันทำให้เชื่อว่า หากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทีโอทีก็ไม่น่าจะมีโอกาสขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศได้
เพราะไม่ใช่เหตุผลทางธุรกิจ ที่ทีโอที ไม่มีปัญญาทำตลาดบริการ 3G ของตัวเองได้ แต่เป็นเพราะการเมืองจะทำให้ 3G ทีโอที เฉาตายซ้ำอดีตไทยโมบายมัดตราสังวันนี้ก่อนที่จะเผาวันหน้า
Company Related Links :
TOT
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น